เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าระบบโซลาร์เซลล์ ไฟฟ้ากระแสตรงนั้น จะเริ่มจาก 12V ,24 ,48V ระบบที่ง่ายและประหยัดต้นทุนที่สุดคือ 12V จะสังเกตุได้จากอุปกรณ์ของระบบนี้ราคาจะต่ำกว่าระบบอื่น แม้ภาพรวมด้านการคำนวนกำลังวัตต์(Watt)อาจจะไม่ต่างกัน แต่ด้านเทคนิคแล้ว ถ้าระบบไฟที่แรงดันสูงย่อมทำให้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานได้เต็มที่มากกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มจะวางระบบควรคำนึงถึงข้อต่อไปนี้
- กำลังวัตต์ของแผงโซลาร์เซลล์ ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประสิทธิภาพของแผง หากเป็นแผงเล็ก ไม่เกิน 200 Watt ให้ใช้กับระบบ 12V หากเป็นแผงใหญ่ ให้ใช้กับระบบ 24V แม้จะสามารถใช้กับระบบ 12Vได้เช่นกัน แต่ความสามารถในการให้กระแส(ชาร์จกระแสนั้น) ที่แรงดัน 24V ทำได้เต็มประสิทธิภาพมากกว่า
- ระบบควบคุมการชาร์จ(Control Charger) ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นเครื่องที่สามารถใช้ได้ทั้งระบบ 12V/24Vในเครื่องเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามควรคำนวนดูกระแสของแผงที่จะจ่ายเข้าระบบว่า สูงสุดกี่แอมป์ แล้วเลือกกระแสเครื่องควบคุมการชาร์จให้สูงกว่า 1.5 เท่า(หากในอนาคตคาดการณ์ว่ามีแผนจะเพิ่มแผงอีกในระบบอีก ควรเลือกขนาดแอมป์ของเครือง Control Charger ที่มีขนาดสูงเผื่อไว้เลย ไม่ต้องเปลี่ยนหลายที เปลือง)
- ระบบแบตเตอรี่ สามารถปรับเปลี่ยนเองได้ หากเป็น 12V ก็ให้ต่อแบตเตอรี่ขนานกัน แต่หากอยากเปลี่ยนเป็นระบบ 24V ก็ให้ต่ออนุกรมกัน โดยมีหลักการดังนี้ ต่อขนาน แรงดัน(V)เท่าเดิม ความจุกระแส(Ah)เพิ่มขึ้น ส่วนต่ออนุกรมจะให้ผลตรงข้ามกัน คือ แรงดันเพิ่ม ความจุกระแสเท่าเดิม
- ระบบอินเวอร์เตอร์ อันนี้สำคัญ เพราะจะมีแค่แบบที่เฉพาะเจาะจงว่าใช้กับระบบใด เช่น 12V ก็ต้องใช้กับระบบ 12V ส่วน 24V ก็ต้องใช้กับระบบ 24V เท่านั้น ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ ดังนั้นจึงต้องกำหนดระบบก่อนแล้วจึงไปเลือกอินเวอร์เตอร์ อีกข้อที่สำคัญคือ กำลังวัตต์ของอินเวอร์เตอร์ เป็นตัวกำหนดขีดจำกัดการใช้กำลังไฟว่าสามารถใช้ไฟสูงสุดได้กี่วัตต์ เช่น 1000Watt ก็สามารถใช้ไฟได้สูงสุด 1000Watt แต่ถ้าหากใช้อุปกรณ์จำพวกมอเตอร์ปั๊มต่างๆ ตอนสตาร์ทจะต้องการกำลังวัตต์สำหรับเริ่มต้นสตาร์ทหมุนมากกว่าปกติประมาณ 1.5เท่า ต้องคำนวนให้รอบคอบก่อนเลือกอินเวอร์เตอร์ ยกตัวอย่างเช่น ต้องการใช้กับปั๊มน้ำ 1 HP(แรงม้า) ประมาณ 746Watt ให้คำนวนไว้ที่วัตต์ตอนสตาร์ คือ 746 Watt x 1.5 = 1,119Watt ดังนั้นควรเลือกใช้อินเวอร์เตอร์ ขนาด 1,500Watt ขึ้นไป เป็นต้น

