ปลูกยูคาลิปตัส

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อของแต่ละบุคคลที่ยากจะเปลี่ยนแปลงได้เกี่ยวกับต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ต้นยูคาลิปตัส นั้นได้ฝังลึกในความคิด แม้จะเปลี่ยนชื่อเป็น ต้นกระดาษ ก็ตาม แต่ความเชื่อที่ฝังแน่นกับความเชื่อที่ว่า จะเกิดผลกระทบด้านลบที่กับสภาพดิน (เชือว่าเมื่อปลูกแล้วดินจะเลวลง) และพืชแวดล้อมชนิดอื่นๆ(พืชแวดล้อมตายหมด)นั้นหาได้เปลี่ยนไปตามไม่ แต่หากมองตามความจริงที่เป็นสัจธรรมแล้ว ที่สิ่งทุกอย่างก็เป็นดั่งเหรียญที่ต้องมีสองด้านเสมอ มีดำก็ต้องมีขาว มีมืดก็ต้องมีสว่าง มีคุณยอมมีโทษ มีผลดีก็ต้องมีผลเสีย สุดแล้วแต่คนๆนั้นจะเลือกที่จะมองหรือหยิบยกเอาด้านไหนมาพูดคุย

dav

ภาพรวม

ดั่งเช่นวันนี้(วันที่ 26 เมษายน 2563)กับพื้นที่ 13 ไร่ แบ่งออกเป็นที่สองระดับ คือบริเวณลุ่มกับโนน เริ่มต้นปลูกโดยใช้พันธุ์ท้องถิ่น K7 แบบเพาะเมล็ด ปลูกปลายหน้าแล้งขณะที่ฝนยังไม่ตกพื้นที่ลุ่มก่อนเพราะหากฝนมาจะปลูกไม่ทัน จำนวน 2,000 ต้นก่อน ส่วนที่โนนคิดว่าฝนมาแล้วค่อยทะยอยปลูก (ประมาณ 1,000 ต้น) ระยะปลูก 3 เมตร X 1.5 เมตร รวม 13ไร่ (หักพื้นที่สระน้ำออกประมาณ 1 ไร่เศษ) จะปลูกได้ประมาณ 3,000 ต้น

แรงจูงใจ

ปกติใช้ที่ดินทำนาข้าวซึ่งผลตอบแทนจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยเป็นหลัก คือ ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำฝนและราคาข้าว ซึ่งระยะหลังฝนแล้งไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้ได้ผลผลิตน้อย และราคาขายข้าวค่อนข้างต่ำ ทำให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับต้นทุนทีสูงลิบลิ่ว (ค่าไถ ค่าปุ๋ย ค่าเกี่ยวข้าว เป็นต้น) อีกเหตุผลที่ต้องพูดถึงคือ ปัญหารถเกี่ยวข้าวหายาก เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ปัจจุบันเกษตรกจะนิยมใช้รถเกี่ยวข้าวแทบทั้งสิ้น จำนวนรถเกี่ยวข้าวไม่พอกับความต้องการที่มาพร้อมๆกันของเกษตร ต่างก็อยากให้ไปเกี่ยวข้าวนาตนเองก่อน เพราะหากข้าวสุกงอมเกินไปจะแห้งกรอบ ข้าวหักรวง หล่นทิ้ง เกิดความเสียหายกับผลผลิตข้าว ทำใหจองคิวรถเกี่ยวไว้ล่วงหน้าเป็นเดือนเลยทีเดียว อีกอย่าง เนื่องด้วยมีที่ดินอีกแปลงไว้สำหรับปลูกข้าวกินอยู่แล้ว จึงตัดสินใจปลูกยูคา

วิเคราะห์เปรียบเทียบการดูแลและปัญหา

ข้อนี้ค่อนข้างชัดเจน ข้าวเป็นพืชระยะสั้นต้องการการดูแลทุกช่วงอายุตั้งแต่เพาะปลูก เกิดเป็นต้นกล้า กักน้ำใส่ให้เพียงพอ กำจัดวัชพืช บำรุงใส่ปุ๋ย ดูแลเรื่องแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยต่างๆ จนกระทั่งออกรวง หากเจอกับพายุฝนน้ำท่วมช่วงฤดูเก็บเกี่ยวละก็ การเก็บเกี่ยวก็ทำได้ยาก อาจถึงขึ้นสูญเสียข้าวที่เฝ้าดูแลมาแรมปีกันเลยทีเดียว ส่วนต้นยูคาเท่าที่ศึกษามาค่อนข้างปลูกง่าย ทนต่อโรค แข็งแรง โตไว เนื่องจากรากหาอาหารได้ดี การดูแลใส่ปุ๋ยปีละ1-2 ครั้งทนน้ำทนแล้ง หน้าแล้งหากได้น้ำจะเร่งการโตได้อีกเท่าตัวเลยทีเดียว คอยดูแลริกิ่งที่ไม่จำเป็นออก หน้าแล้งป้องกันไฟไหม้ทำแนวกันไฟและไถพรวนกำจัดวัชพืชเป็นครั้งคราว ในเรื่องของสายพันธ์ที่ปรับปรุงพัฒนาขึ้นปัจจุบันก็มีหลากหลาย เลือกปลูกตามความเหมาะสมของดินแต่ละพื้นที่และความต้องการของผู้ปลูกเอง แต่หากจำแนกตามการขยายพันธุ์จะแบ่งเป็น แบบเพาะเมล็ด กับ เพาะเนื้อเยื่อ แบบเพาะเมล็ด จะมีรากแก้วหยั่งลึก โตช้าตามกำลังต้น อาจจะไม่เสมอเท่ากันทุกต้น หลังตัดแล้ว ต้นที่เกิดตอต่อไปจะแข็งแรง ไม่เปราะ ให้ผลิตลำต้นเยอะ ส่วนแบบเนื้อเยื่อ โตไว เสมอกันทุกต้น น้ำหนักดี เมื่อตัดแล้วตอต่อไปจะให้ผลิตน้อย และต้นฉีกเปราะง่าย(ไม่ทนลม)

วางแผนและดำเนินการ

ไถดะพรวนดิน ยกร่องแนวระยะกว้างแต่ละร่องห่าง 3 เมตร แม้จะเป็นกลางเดือนเมษายนแต่เนื่องจากมีฝนตกมาบ้างสองสามครั้งจึงพอไถได้ค่อนข้างดี คิดว่าหากปลูกในช่วงปลายแล้งต้นฝนนี้ แล้วขยันลงทุนรดน้ำให้เบี้ยตั้งตัวได้ เมื่อเข้าหน้าฝนเต็มตัว ต้นยูคาน่าจะเติบโตได้อย่างอย่างต่อเนื่อง ไม่รั้งการเติบโตเหมือนปลูกหน้าฝนที่ตกชุกมีน้ำเยอะ เลยเลือกปลูกเวลานี้ เบี้ยยูคา 2,000 ต้น ปลูก 4 คน ใช้เวลา 2 วัน ได้พื้นทีประมาณ 8-9 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 4-5 ไร่ เป็นที่โนนจะทะยอยปลูกเมื่อฝนตกมาแล้ว เนื่องจากเป็นดินดอนแข็งและแห้งมาก การเลือกกล้ายูคาก็มีความสำคัญเช่นกัน ควรเลือกต้นสูงประมาณ 20 เซนติเมตร เพราะเป็นความสูงที่ต้นกำลงแข็งแรง เพราะหากสูงเกินไป ขณะที่ยังไม่แข็งแรง ลมอาจจะพัดโอนเอียงไปมา เกิดความบอบช้ำได้ แกะถุงระมัดระวังอย่างให้รากขาดหรือเบ้าดินแตก ฝังลงในหลุมกลบดิน การปลูกหน้าแล้งแนะนำให้กลบดินเป็นแอ่งเพื่อให้น้ำสามารถขังรอบต้นได้นานที่สุด

ยกร่องปลูกกว้าง 3 เมตร

การรดน้ำ

ประยุกต์ใช้จากอุปกรณ์ที่มีอยู่ เอาเครื่องดูดน้ำแบบเครื่องตัดหญ้าเบนซิน ดูดน้ำจากสระใส่ถัง 200 ลิตร 2 ถังบรรทุกบนรถไถนาคูโบต้าสีส้ม ใช้ไดโว่ 12V ต่อจากแบตรถไถ ดูดน้ำจากถังวิ่งรดแต่ละต้น ต้นเช้าประมาณ 04:10-09:00 เป็นระยะเวลา 4 วัน จากนั้นจะเว้นระยะรดน้ำออกเป็นสัปดาห์ละครั่งจนกว่าจะมีฝนตก แต่ละต้นจะได้น้ำครั้งละประมาณ 1 ลิตรต่อการรด ตอนกลางวันหน้าผิวดินจะร้อนน้ำที่รดจะระเหยไปแต่อย่างไรก็ตามเมื่อไปลองขุดดินดูพบว่า ลึกลงไปยังมีความชุ่มอยู่ แต่เพื่อให้ดีแนะนำให้ใช้ฟางหรือวัสดุมาคลุมหน้าดินเอาไว้เพื่อรักษาความชุ่มชื้นเอาไว้ ในทีนี้ในสระน้ำมีแหนอยู่มากจึงเอาแหนมาคลุมไว้โคนต้นไว้ซะเลย ช่วยได้เยอะ

ผลลัพธ์

ผ่านไป2-3 วันก็จะเห็นความแตกต่างของต้นที่รอดกับต้นที่ตาย(ไม่รอด) ต้นที่ตายนั้นมีมาจากหลายปัจจัย เช่น ความแข็งแรงของต้น การขาดน้ำระยะเวลาหนึ่ง ความร้อนของแดดตอนปลูก การถมดินโคนต้น เนื่องด้วยสภาพดินเป็นดินเหนียวปนทรายทำให้ดินเป็นก้อนตอนปลูกไม่สามารถกดถมทับได้สนิท เป็นต้น อัตราการรอด ผ่านไป1 สัปดาห์อากาศร้อนมาก ต้นที่ตายจากความร้อนแดดก็มี ส่วนปัญหาใหม่คือ ใบและยอดถูกแมลงมากัดกินตอนกลางคืน ใบขาดแหว่งจำนวนมาก บางต้นใบหมดต้นก็มี จึงได้แก้ปัญหาโดยการฉีดยาไล่แมลงเพื่อป้องกันแมลงมากินใบ(โดยปกติแมลงจำพวกนี้จะกิยอดอ่อนของหญ้าและพืชแต่เนื่องจากหน้าแล้วฝนยังไม่ตก เลยไม่มียอดอ่อนเป็นอาหาร จึงมากินยอดใบต้นยูคาที่ปลูก) ฟังข่าวพยากรณ์อากาศ อีกไม่กี่วันพายุโซนร้อนจะเข้าหวังว่าจะมีฝนตกมาสักทีนะ ร้อนมากๆๆๆ

อุปสรรค

หลังจากมีฝนตกลงมา นำความชุ่มฉุ่มมาทั่วทุกพื้นดิน ต้นยูคาก็สดชื่น ผ่านไปประมาณเดือนกว่าๆ ต้นเริ่มแตกยอดและใบแสดงถึงรากที่เริ่มแข็งแรงสามารถหาอาหารเลี้ยงต้นใบให้เจริญเติบโตได้ แต่จากนั้นก็ต้องพบกับปัญหาต่อมา คือ หนอนบ้งม้วนกินยอด(ใบ) ลักษณะคือส่วนยอดรวมถึงใบบางส่วนจะม้วนพับเข้าหากัน จะแหว่งเพราะถูกหนอนกินจนถึงยอดหายไปเลยก็มี ในกรณีที่ยังไม่ระบาดมากอาจจะพบเจอบางต้น ดังนั้นต้องทำการแก้ไข ฉีดยฆ่าหนอนบ้งม้วนใบ เป็นการด่วน

ยอดและใบม้วนพับหากัน
หนอนบ้งม้วนกินยอด(ใบ)

อนาคตตลาด

ณ ปัจจุบัน ถือว่า เป็นพืชที่ไปต่อได้ มีอนาคต ความต้องการใช้ของตลาดยังมีสูง เนื่องจากนำไปใช้ประโยชน์ได้หหลายหลาย บดย่อยแปรรูป กระดาษ อุปกรณ์เยื่อไม้ เฟอร์นิเจอร์ บ้านเรือน อาคารก่อสร้าง พลังงาน เป็นต้น แต่ไม่อย่างไรก็ดี ในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้าเมื่อต้นไม้โตพร้อมขายก็ไม่ทราบว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางขับเคลื่อนไปอย่างไร หากประเทศไทยได้ผู้นำประเทศที่ดี มีศักยภาพเพียงพอ เชื่อเหลือเกินว่าจะกลายเป็นพืชเศรษฐิจที่จะเข้ามาทดแทน โอบอุ้มพี่น้องเกษตรกรสร้างรายได้ที่มั่นคง ทดแทนยางพาราที่มีความเฟ้อของอุปทานทำให้ราคาดิ่งลงเหวอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็เป็นได้

การวางแผน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการ ต่อให้มีแผนดีสักเพียงใด หากขาดซึ่งการลงมือทำที่จริงจัง ก็ไม่เกิดผลลัพธ์อะไรขึ้นมา เปรียบเหมือน ความคิด หากมัวแต่คิด ไม่ลงมือทำ จะรู้ได้อย่างไรว่าจะดีหรือไม่ดี แต่อย่างไรก็ดีหากลงมือทำโดยไม่ได้คิดวางแผนให้รัดกุมรอบคอบไว้ก่อนแล้ว การลงมือจะเกิดอุปสรรคและความลำบาก ยากจะสัมฤทธิ์ผลได้ ทั้งสองสิ่งจึงเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนกัน หากแต่เมื่อลงมือทำไปแล้ว ต้องหมั่นติดตามผล ตรวจสอบ หาจุดด้อยปัญหาที่ก่อให้เกิดอุปสรรคมาวิเคราะห์สาเหตุแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผลผลิตผลลัพธ์ออกเต็มประสิทธิผลมากที่สุดด้วย

ดินแข็งเป็นก้อน

แต่บางครั้งก็ต้องการแค่ลงมือทำ ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นคำตอบตัวมันเอง

มีคนเคยบอกว่า หากทำเหมือนเดิม สิ่งเดิม วิธีการเดิมๆ ผลลัพธ์ก็ย่อมได้เหมือนเดิม ดังนั้นหากต้องการผลลัพธ์ใหม่ๆก็ลงมือทำสิ่งใหม่หรือวิธีการใหม่ๆ จริงไหมครับ

.

.

.

ต้นยูคาเจริญเติบโตตามลำดับสูงประมาณอกได้ แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนเนื่องจากพื้นที่บางส่วนเป็นที่ลุ่มน้ำ ประกอบกับพายุฝนปีที่ผ่านมาตกหนักมวลน้ำมีเยอะ ทำให้พื้นที่ลุ่มมีน้ำขังระดับน้ำประมาณเอว ขังอยู่เป็นเวลาร่วม 3 เดือน ส่งผลให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก ใบเริ่มเหลืองอย่างเห็นได้ชัด ต้นเริ่มโน้มลงตามน้ำเนื่องจากดินเป็นโคลน หลังจากน้ำลดลงมีหลายต้นที่ตายต้องหามาปลูกแซมใหม่ และหลายต้นที่ไม่ตรง(ต้นโน้มเอียงเกิดรากอากาศต้นน้ำขัง) จนมาถึงวันนี เป็นระยะเวลาครบ 1 ปีพอดีจึงได้เอาภาพมาไว้ให้ดูกัน

พื้นที่โนนสูง น้ำไม่ขัง แต่หน้าดินแข็งมาก ช่วงแรกเจริญเติบโตช้ามาก แต่เมื่อรากหยั่งได้ก็เริ่มทรงตัวได้
พื้นที่ลุ่ม น้ำขังร่วม 3 เดือน ชะงักการเติบโต หลังน้ำลดต้นที่รอดก็เจริญเติบโตตามลำดับ

ทำให้รู้ว่า ยูคาทนอากาศร้อนและเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะความแห้งแล้งได้ดีมาก ดังนั้นคิดว่าเมื่อยูคายืนต้นโตได้ประมาณ 1 ปีแล้ว อาจจะไม่ต้องเป็นห่วงอะไรอีกเลยก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ต้องคอยดูกันต่อไป

PDCA

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น